วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Logistics คือ อะไร

ระบบโลจิสติกส์คืออะไร? การพัฒนาระบบโลจิสติกส์จะมีส่วนในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร? และหากประเทศไทยก้าวไม่ทันหรือตกขบวนรถไฟสายโลจิสติกส์ที่ว่า จะไม่มีเวทียืนบนตลาดโลกกระนั้นเลยหรือ? คงเป็นคำถามที่ค้างคาใจของใครหลาย ๆ คน ยิ่งเมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำมันที่เขย่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและส่งออก รวมทั้งระบบเศรษฐกิจโดยรวม ข้อเสนอการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ถือเป็น \"ยาหม้อใหญ่\" ของการแก้ไขวิกฤตทั้งปวง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหันมาโหมพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยกันขนานใหญ่ เพื่อให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ลดต้นทุนสินค้าและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ต่างก็ป่าวประกาศ ในความสำเร็จของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ จนสามารถลดต้นทุนให้เหลืออยู่เพียง 8-10% ขณะที่มีการประมาณการกันว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่แม้จะมีการนำเอาระบบจัดการโลจิสติกส์เข้ามาใช้ร่วม 10 ปี แต่วันนี้ต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอยู่ดี

ด้วยข้อสงสัยหลายประการ ประชาคมวิจัยฉบับนี้จึงถือโอกาสขอเข้าสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ ผู้ประสานงานชุดโครงการ “โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน” สกว. จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อช่วยไขปัญหาที่ค้างคาใจใครอีกหลายคนว่า การจัดการโลจิสติกส์ของไทย ณ ขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว งานวิจัยในชุดโครงการโลจิสติกส์ของ สกว. จะมีส่วนผลักดันแนวนโยบายและสนับสนุนการเคลื่อนงานของภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร




สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ logistics ว่าคือการขนส่งสินค้า ก็เพราะเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนว่า supply ไปเจอ demand นั่นคือ การนำสินค้าไปไว้บนรถแล้วสินค้านั้นก็เดินทางไปถึงลูกค้านั่นเอง



• ถ้าจะตีความคำว่า “logistics” เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายแล้ว จะหมายความถึงเรื่องใดบ้างคะ?

คนส่วนใหญ่จะตีความ “logistics” ไปในเรื่องของการขนส่งซะเป็นส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว logistics ก็คือการทำให้อุปทาน (supply) ไปเจออุปสงค์ (demand) อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำให้ supply ไปเจอกับ demand ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด มันหมายถึงการบริหารทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนโครงของโซ่อุปทาน (supply chain) ที่มองกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น สมมุติว่าเราซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราก็ต้องมองแล้วว่า supply chain ของมันมีอะไรบ้าง ตั้งแต่การปลูกข้าวเพื่อผลิตแป้งมาจากไหน ซองที่ใช้บรรจุมาจากไหน เครื่องปรุงมาจากไหน จนกระทั่งเมื่อผลิตมาแล้วไปวางขายที่ไหน ซึ่งนี่คือตัว supply chain แล้วบนโครง supply chain มีกิจกรรมอะไรที่บริหารทรัพยากรแล้วทำให้วัตถุดิบทั้งหมดกลายเป็นวัตถุสำเร็จ (finished product) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการวัตถุดิบ การบริหารจัดการการสั่งซื้อ การวางแผนการผลิต การจัดลำดับการผลิต การจัดกำลังการผลิต การจัดการโกดังสินค้า การจัดการวัสดุคงคลัง ว่าจะต้องเก็บเท่าไหร่ เก็บเมื่อใด ซื้อเมื่อใด ซื้อเท่าใด เก็บแค่ไหน ขายเท่าใด จนกระทั่งไปถึงการจัดการการขนส่งไปถึงมือลูกค้า การจัดการการขายและบริการลูกค้า แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ logistics ว่าคือการขนส่งสินค้า ก็เพราะเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนว่า supply ไปเจอ demand นั่นคือ การนำสินค้าไปไว้บนรถแล้วสินค้านั้นก็เดินทางไปถึงลูกค้านั่นเอง เพราะฉะนั้นในการจัดการโซ่อุปทานของสินค้าใด ๆ ก็คือ การมองว่า supply chain หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วถึงเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรในส่วนที่ chain นั้น ๆ มีปัญหา ซึ่งแต่ละ chain ของสินค้าแต่ละตัวก็ต่างกันออกไป เช่น การผลิตสับปะรดส่งออก เรามองกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พบว่าปัญหาไม่มีอยู่ที่การผลิตกระป๋อง ไม่ได้อยู่ที่การจัดลำดับการผลิต แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดการวัตถุดิบ การผลิตนม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กระบวนการผลิต แต่ปัญหาอยู่ที่การขนส่งนมระหว่างโรงงานนมดิบไปยังสหกรณ์นม และจากสหกรณ์นมไปยังโรงงานแปรรูปนม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็น logistics ที่คนควรจะเข้าใจมากกว่า




logistics เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง คือจริง ๆ แล้ว คำว่า “logistics” พื้นฐานมาจากศัพท์ทางทหาร ทางทหารแปลว่า พลาธิการ พลาธิการก็คือ การส่งกำลังบำรุง เป็นการจัดการการส่งกำลังบำรุงว่าจะต้องขนกองทัพไปเท่าใดถึงจะตีข้าศึกได้



• แล้ว logistics กับ supply chain มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ตัว logistics กับ supply chain ต้องไปด้วยกัน คือ จะมีคำถามเยอะมากว่า logistics กับ supply chain อะไรใหญ่กว่ากัน ใครเป็นแม่ใคร ซึ่งจริง ๆ แล้ว อาจารย์มักจะย้ำอยู่เสมอว่าทั้งสองต้องไปด้วยกัน เพราะ supply chain เป็นโครงสร้างที่ให้กิจกรรม logistics อาศัยอยู่ คือ เหมือน logistics เป็นกิจกรรมหนึ่ง ๆ ที่ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ supply ไปเจอ demand บน supply chain ซึ่งนั่นก็คือ การจัดการ logistics (logistics management) แต่ก็มีความเข้าใจผิดอีกประการหนึ่งที่คนชอบคิดว่า logistics เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา...ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่...logistics เป็นชื่อเรียกกิจกรรม ที่เราจะต้องไปจัดการกับกิจกรรม logistics เหล่านี้บน supply chain ที่เราศึกษา เพราะฉะนั้นงานวิจัย logistics ก็คือ การวิจัยที่ศึกษาบน supply chain และดูกิจกรรม logistics แล้วแก้ปัญหาโดยใช้หลักการบริหารจัดการ logistics เข้าไปแก้

logistics เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง คือจริง ๆ แล้ว คำว่า “logistics” พื้นฐานมาจากศัพท์ทางทหาร ทางทหารแปลว่า พลาธิการ พลาธิการก็คือ การส่งกำลังบำรุง เป็นการจัดการการส่งกำลังบำรุงว่าจะต้องขนกองทัพไปเท่าใดถึงจะตีข้าศึกได้ ต้องเอาเสบียงและยารักษาโรคไปเท่าใด ต้องเดินเท้ากี่วันถึงจะไปถึงที่หมาย



• ศาสตร์ทาง logistics ในประเทศไทยมีผู้รู้ในระดับใดคะ

logistics มีเสน่ห์ตรงที่เป็นสหสาขาวิทยาการ (multidiscipline) คือจะมีคนถามบ่อยครั้งว่า ศาสตร์ด้านนี้อยู่ในสาขา management หรือว่าอยู่ใน engineering ซึ่งอาจารย์ว่า logistics จะต้องผนวกทุกสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เพราะการบริหารจัดการให้ supply ไปเจอ demand มีความเกี่ยวข้องกับหลายศาสตร์ทั้งด้านกฎหมาย ภาษีอากร ฯลฯ ซึ่งต้องใช้ความรู้จากหลาย ๆ สาขาเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ ถ้าถามว่ามีผู้รู้มากน้อยแค่ไหน ณ ขณะนี้นักวิจัยของ สกว. ในชุดโครงการวิจัย logistics ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายนักวิจัยไทยด้านการจัดการโซ่คุณค่าและโลจิสติกส์ (ThaiVCML; http://www.thaivcml.org) ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 85 ท่านจาก 30 มหาวิทยาลัย ซึ่งเครือข่ายนี้ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการและได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีลักษณะเป็นเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัย และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการจัดการ logistics และ supply chain ในประเทศไทย รวมถึงการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม แล้วอย่างที่อาจารย์กล่าวในตอนต้นก็คือ logistics เป็นสหสาขาวิทยาการ เพราะฉะนั้นอาจารย์ที่อยู่ในเครือข่ายนี้จะมีทั้งอาจารย์จากทั้งสาขาวิศวกรรมศาสตร์ บัญชี บริหาร อุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงนิติศาสตร์ เพราะเราต้องใช้ความรู้จากหลายๆ สาขาวิชาเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่ง ณ ขณะนี้มีการเปิดสอนในสาขา logistics โดยตรงทั้งสิ้น 16 มหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการปรับให้เป็นหลักสูตรมาตรฐานขึ้นมาใหม่ ตอนนี้การเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 สายคือ สายการจัดการ (management) และสายวิทยาศาสตร์ในเชิง engineering ซึ่งก็จะเรียนกันคนละแบบ มีการสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ส่วนระดับปริญญาเอกกำลังจะเปิดสอนในมหาวิทยาลัยมหิดล

การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดลจะอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบุคลากรให้เป็น logistics engineer ซึ่งจะสอนให้นักศึกษารู้จักวิเคราะห์และแก้ปัญหาระบบ logistics ในเชิงระบบคือใช้ modeling tools ต่าง ๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะอยู่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะเน้นการสอนด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์และการวางแผนการตลาดด้าน logistics มหาวิทยาลัยบูรพาจะเน้นด้านพาณิชย์นาวี การจัดการด้านการขนส่งทางเรือ การจัดการโกดังสินค้า เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีความเฉพาะเจาะจง ความเชี่ยวชาญของศาสตร์แต่ละด้านอย่างชัดเจน ผู้เรียนไม่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีรสชาติเหมือน ๆ กัน ผู้เรียนเลือกได้ว่าเราจะเป็นราดหน้า ก๋วยเตี๋ยว หรือบะหมี่



• ทำไม logistics ถึงให้ความสำคัญทางการค้าระหว่างไทย-จีน มากกว่าข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ คะ

จริง ๆ แล้วการทำวิจัยระบบ logistics ของการค้าไทย-จีน เพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว โจทย์เกิดจากที่ว่าถ้าไทยเปิดเสรีการค้าแล้ว logistics ของไทยจะตอบสนองต่อการเปิดเสรีการค้าที่ไทยควรจะตั้งรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทยเราอยู่ระหว่างจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ค่อนข้างดีที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (HUB) ทั้งที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่ง และศูนย์กระจายสินค้าของภูมิภาคทั้งจากอาเซียนไปจีน และจากจีนมายังอาเซียน อีกประการหนึ่งคือ จีนเป็นประเทศใหญ่มาก เรามองว่าหากจีนเป็นคู่ค้ากับไทย จะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยได้มาก ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการศึกษาโจทย์วิจัยเรื่องนี้



• งานวิจัย logistics กับการนำไปใช้ประโยชน์

การวิจัยในเชิงที่ว่าไทยควรจะตั้งรับหรือต่อสู้อย่างไรเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบทางการค้าระหว่างประเทศเป็นงานวิจัยเชิงนโยบาย เป็นการทำโจทย์เพื่อเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีผู้รอใช้ผลวิจัยนี้ค่อนข้างมาก จะเสร็จสิ้นราวเดือนพฤษภาคม 2550 ตอนนี้อยู่ในขั้นขมวดปมทุก ๆ โครงการ ซึ่งความยากของโจทย์อยู่ที่ว่า เราไม่รู้ว่าเราจะไปจับประเด็นไหนเพื่อจะไปดูว่าระบบ logistics ของไทยควรจะเป็นอย่างไร เราเลยตีความออกเป็น 3 โจทย์ย่อยคือ (1) ศึกษาระบบ logistics ของไทยว่าหากไทยส่งออกสินค้าไปจีนแล้ว logistics ของไทยจะมีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นโจทย์นี้เป็นที่น่าตื่นเต้นมาก ทีมวิจัยกลุ่มนี้พบว่าระบบ logistics ของไทยในการส่งออกสินค้าเองยังไม่บูรณาการเข้าด้วยกัน การส่งออกสินค้าจากท่าเรือต่าง ๆ ของไทยมีค่าขนส่งที่สูงมาก ในไทยมีท่าเรือมากมายแต่ทำไมเราถึงต้องไปส่งออกที่ท่าเรือประเทศอื่น ยกตัวอย่างเช่น การส่งออกยางพาราทางภาคใต้ ทำไมถึงไม่ส่งออกที่ท่าเรือสงขลาหรือท่าเรือสุราษฎร์ แต่ไปใช้ท่าเรือส่งออกที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเด็นที่เราพบก็คือ ค่าใช้จ่ายในการส่งออกทางท่าเรือเหล่านั้นสูงกว่าที่ผู้ประกอบการจะใช้วิธีใส่รถบรรทุกผ่านด่านปะดังเบซาแล้วไปออกที่ท่าเรือกลังหรือท่าเรือปีนัง ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสาเหตุแรกก็คือ เรามีตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ คือถ้าท่าเรือเราไม่เป็นที่นิยม ปริมาณตู้เข้าจะน้อย หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ ปริมาณตู้เข้าและออกไม่สมดุลกันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70 : 30 (ตู้เข้าน้อยกว่าตู้ออก) เพราะฉะนั้นเวลาเราจะส่งออก เราจะต้องไปลากตู้เปล่ามาจากสิงคโปร์บ้าง มาเลเซียบ้าง อีกประการหนึ่งที่พบก็คือ ภาคเอกชนไม่กล้าเข้ามาลงทุนเต็มที่ สัมปทานที่เอกชนได้รับมีระยะเวลาสั้นเกินไป เพราะฉะนั้นท่าเรือจึงไม่มีเครน ไม่มีอุปกรณ์ในการยกตู้คอนเทนเนอร์ เรือที่เข้ามาต้องเป็นเรือที่มีอุปกรณ์ยกด้วยไม่เช่นนั้นจะเข้ามาท่าเรือนี้ไม่ได้ และประการสุดท้ายก็คือ ท่าเรือไม่มีการเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่น ๆ เช่น ระบบรางรถไฟ หรือถนนที่ตัดเข้าท่าเรือแคบมากไม่สะดวกต่อการขนส่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรายังไม่ได้มีการมองภาพรวมในเชิงการขนส่งอย่างเป็นระบบที่ดี (2) ศึกษาระบบ logistics ของประเทศจีนว่าศักยภาพของสินค้าไทยสามารถเข้าไปบุกตลาดจีนอย่างไร เพราะไม่ใช่ทุกมณฑลของจีนที่บริโภคสินค้าไทย ผลไม้ไทยขายได้แค่ทางตอนใต้และทางตะวันออกเฉียงใต้สูงสุดแค่เมืองเซียงไฮ้และปักกิ่งเท่านั้น ทีมวิจัยกลุ่มนี้ต้องเข้าไปศึกษาว่าตลาดจีนที่รองรับสินค้าไทยและระบบการกระจายสินค้าเข้าตลาดจีนในแต่ละส่วน ไทยจะเจออุปสรรคใดบ้าง ซึ่งพบว่ามีอุปสรรคมากมาย เป็นต้นว่า กฎเกณฑ์ของแต่ละมณฑล อัตราภาษี การตรวจกักสินค้า ฯลฯ (3) ศึกษาศักยภาพของการค้าผ่านแดนไทย-จีน ในมณฑลยูนาน ซึ่งติดกับทางภาคเหนือของไทยและเป็นทางใต้ของจีน ซึ่งทีมวิจัยกลุ่มนี้พบว่าสินค้าผ่านแดนไม่ได้มีการกระจายสินค้าไปทั่วทั้งประเทศจีน มีเพียงสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ลำไย ยางพารา เท่านั้นที่มีศักยภาพสูงกว่าสินค้าประเภทอื่น และเรายังมองถึงอนาคตว่าในปี 2007 ซึ่งการก่อสร้างทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ จะแล้วเสร็จ รัฐบาลไทยควรมีนโยบายตั้งรับอย่างไรเพื่อสนับสนุนระบบ logistics ของไทย เราจะเป็นแค่ทางผ่านจากจีนไปยังสิงคโปร์อย่างเดียวหรือไม่ ซึ่งทั้งสามประเด็นที่ตั้งไว้ ผลวิจัยจะตอบคำถามได้ว่าระบบ logistics ไทยเพื่อการส่งออกไปจีนควรจะเป็นอย่างไร




สิ่งที่เรากำลังจะทำก็คือ การทำวิจัยผ่านเครือข่ายไทย VCML เพื่อบูรณาการงานวิจัยที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกันว่าจะสามารถนำมาต่อยอดงานวิจัยกันได้หรือไม่



• ผลวิจัยของทั้ง 3 ทีม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับใดแล้วคะ

มีการรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการวิจัยเข้ามาเป็นระยะ ๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ที่เราดึงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการวิจัยตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงขั้นพัฒนาโครงการ เริ่มรับทราบแล้วว่าผลงานวิจัยเป็นอย่างไร ผลวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำผลงานวิจัยไปใช้ในเรื่องการส่งออกยางพาราว่าต้องมีการปรับปรุงศักยภาพท่าเรือของไทย และกำหนดบทบาทของท่าเรือไทยว่าควรจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป



• แสดงว่าภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้ logistics ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ในความเห็นของอาจารย์ อาจารย์คิดว่าจะเป็นเรื่องน่าห่วงเสียมากกว่า เพราะตอนนี้เราจะเห็นมีคณะกรรมการ logistics เกิดขึ้นทั่วไปหมด แต่ไม่มีหน่วยงานกลางที่จะรวบรวมและบูรณาการองค์ความรู้ทุกเรื่องเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังจะทำก็คือ การทำวิจัยผ่านเครือข่ายไทย VCML เพื่อบูรณาการงานวิจัยที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกันว่าจะสามารถนำมาต่อยอดงานวิจัยกันได้หรือไม่ อาจารย์ในฐานะผู้ประสานงานโครงการจะต้องไปในทุกเวทีเพื่อรับทราบข้อมูลและความเคลื่อนไหวว่าแต่ละหน่วยงาน กรม กอง โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่อง logistics มาก ว่าเขาทำอะไรไปถึงไหนแล้ว เพื่อที่จะได้ดึงข้อมูลมาบูรณาการเข้าด้วยกัน สรุปคือปัญหาของประเทศไทยเกี่ยวกับ logistic ก็คือ ปัญหาเรื่องการบูรณาการองค์ความรู้เสียมากกว่า



• ฝากทิ้งท้ายเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้าน logistics

บุคลาการด้าน logistics ณ ขณะนี้มีน้อยมากไม่ถึง 100 คน และงานวิจัยด้านนี้ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของประเทศ ซึ่งมีผลการวิจัยออกมาว่าความต้องการบุคลากรด้าน logistics ของประเทศตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 385,000 คน/ปี เป็นความต้องการบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมปีละ 100,000 คน และต้องการครู-อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ปีละกว่า 1,100 คน เพราะฉะนั้นอาจารย์คงต้องฝากถึงเยาวชนว่าให้หันมาสนใจศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้สนับสนุนด้านการศึกษาโดยเครือข่าย VCMLร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา (สกอ.) จัดอบรมเกี่ยวกับ logistics ให้แก่ครูและนักเรียนในระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย รวมถึงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งได้สนับสนุนให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับ logistics ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งน่าจะเป็นโครงการระยะยาวที่สามารถทำได้